Skip to main content

หน้าหลัก

สถานการณ์เกี่ยวกับยาเสพติดในประเทศอิสราเอล

สถานการณ์เกี่ยวกับยาเสพติดในประเทศอิสราเอล

ปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดในกลุ่มแรงงานไทยในประเทศอิสราเอลถึงปัจจุบันเกิดขึ้นตั้งแต่ประมาณ 6 – 7 ปีที่ผ่านมา และรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากแรงงานไทยกระจายกันทำงานอย่ในโมชาฟ/ คิบบุตส์ทั่วประเทศ การใช้โทรศัพท์ติดต่อสื่อสารมีความสะดวกมาก แรงงานไทยมักนิยมโดยสารรถรับจ้างสาธารณะ (แท็กซี่) เดินทางไปในที่ต่างๆ ดังนั้นการขนส่งและจำหน่ายยาเสพติดจึงกระทำได้ไม่ยาก โดยส่วนใหญ่เป็นยาบ้า และพบยาไอซ์บ้าง แต่จะนิยมในกลุ่มแรงงานฟิลิปปินส์

การนำเข้าหรือผลิตยาเสพติด

จากการสอบถามข้อมูลบริษัทจัดหางานอิสราเอลหรือผู้จัดการโมชาฟ/คิบบุตส์ที่มีคนไทยทำงาน ซึ่งใกล้ชิดกับแรงงานไทยทราบว่า มีการส่งทางไปรษณีย์ถึงแรงงานไทย ทั้งในโมชาฟทางภาคใต้ ได้แก่ โมชาฟโซฟาร์ คัทเซวา ฟาราน ภาคเหนือที่โมชาฟลีมัน และภาคกลางมีทั่วไป โดยแรงงานมักจะรวมกลุ่มในวันหยุดตอนเย็นวันศุกร์และวันเสาร์ หรือเรียกกันในกลุ่มคนงานว่า “เปิดซองผ้าป่า” ทั้งเล่นการพนัน ซึ่งมีการขายและเสพยาเสพติดร่วมด้วย

ฝ่ายแรงงานฯ ได้รับแจ้งจากแรงงานไทยที่หนีจากกลุ่มผู้ผลิตยาเสพติด ซึ่งปัจจุบันผู้สั่งการและบังคับให้แรงงานไทยผลิตยาเสพติดได้ถูกตำรวจจับกุมและถูกดำเนินคดีแล้ว โดยได้ให้ข้อมูลว่า ถูกบังคับให้ผลิตยาบ้าและนำส่วนผสมเข้ามาผลิตเอง เช่น แป้ง สีผสมอาหาร ถูกแยกส่งมาทางไปรษณีย์จากประเทศไทย มีราคาขายเม็ดละประมาณ 250 เชคเกล

การนำเข้าทางสนามบินหรือนำมาพร้อมกับการเดินทางเข้ามาทำงานของแรงงานไทยอาจเป็นไปได้ แต่เป็นการยาก

แนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหา 

1. สถานเอกอัครราชทูตฯ และฝ่ายแรงงานฯ ได้ออกประกาศเตือนและประชาสัมพันธ์เผยแพร่ให้ความรู้ ความเข้าใจแก่แรงงานไทย โดยตรวจเยี่ยม พบปะแรงงานเดือนละ 3 – 4 ครั้ง ตามโมชาฟ/คิบบุตส์ เผยแพร่ประกาศ เอกสารข้อพึงปฏิบัติและข้อห้ามต่างๆ ในขณะที่พำนักและทำงานในประเทศอิสราเอล (เอกสารแนบท้าย)

2. สร้างเครือข่ายและรับแจ้งเบาะแสจากแรงงานไทย ล่ามบริษัทจัดหางานอิสราเอล เป็นต้น เพื่อติดตามและตรวจสอบ พร้อมแจ้งบริษัทจัดหางาน นายจ้าง รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐของอิสราเอลที่เกี่ยวข้อง เช่น ตำรวจยาเสพติด ปัญหาคือ นายจ้างหรือบริษัทจัดหางานมักไม่ต้องการจะเกี่ยวข้องเรื่องดังกล่าว และอ้างว่า หากตำรวจตรวจไม่พบหลักฐาน จะไม่สามารถจับกุมหรือดำเนินคดีได้ ผู้แจ้งเบาะแสก็เกรงกลัวอันตรายหรืออาจไม่ปลอดภัย

3. ประสานหน่วยงานไทย รายงานสถานการณ์ และเห็นควรมีคณะทำงานร่วมฝ่ายไทยเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดของแรงงานไทยในต่างประเทศ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นคณะทำงาน เช่น กระทรวงแรงงาน กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด บริษัทไปรษณีย์ไทย การท่าอากาศยาน เป็นต้น โดยคณะ ทำงานร่วมมือประสานงานกับหน่วยงานในต่างประเทศเพื่อร่วมกันดำเนินการป้องกันและขจัดปัญหาตั้งแต่ต้นทางตลอดจนถึงปลายทาง

4. ปัญหาส่วนหนึ่งแต่เป็นปัญหาสำคัญ คือ หน่วยงานของอิสราเอล เช่น ตำรวจไม่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องยาเสพติดในกลุ่มแรงงานไทยหรือแรงงานต่างชาติ รวมทั้งบทลงโทษผู้ครอบครอง ผู้ค้าไม่รุนแรง ทำให้ผู้กระทำผิดไม่เกรงกลัว

บทลงโทษตามกฎหมายอิสราเอลในข้อหาความผิดด้านยาเสพติด

        กรณีที่ครอบครองและใช้ยาเสพติด ต้องรับโทษจำคุก 3 ปี หรือปรับ 25 เท่าตามโทษปรับที่กำหนดในกฎหมายอาญา ถ้าจำคุกมากกว่าสามปีให้ปรับถึง 202,000 เชคเกล

5. ในระหว่างปี 2555 – มิถุนายน 2556 มีแรงงานไทยถูกจับกุมคดียาบ้า จำนวน 17 คน   ปัจจุบันได้รับโทษพิพากษาให้จำคุก 6 คนโทษสูงสุดจำคุก 3 ปี อยู่ในกระบวนการของศาลอีก 11 คน ทุกครั้งที่ฝ่ายแรงงานฯ ออกตรวจเยี่ยมคนงานตามโมชาฟหรือคิบบุตส์ จะพยายามชี้แจงให้คนงานตระหนักถึงพิษภัยและโทษของยาเสพติด รวมถึงผลเสียของการพนัน และการดื่มสุรา นอกจากนั้น ยังแนะนำให้คนงานไทยใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ เช่น การเล่นกีฬา ออกกำลังกาย เพื่อลดปัญหาความเครียด


2191
TOP