Skip to main content

หน้าหลัก

นโยบายและขั้นตอนในการจ้างแรงงานต่างด้าว

     อิสราเอลไม่มีทรัพยากรธรรมชาติ  จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยรัฐบาลอิสราเอลลงทุนอย่างสูงในด้านการศึกษาของประชาชน  ทำให้อิสราเอลเป็นหนึ่งในประเทศที่มีแรงงานที่มีการศึกษาสูงสุดประเทศหนึ่งของโลก   แรงงานไร้ฝีมือในอิสราเอลส่วนใหญ่เป็นชาวยิวโพ้นทะเล  จากรัสเซีย  และยุโรปตะวันออกที่เข้าไปตั้งรกรากในอิสราเอล  รวมทั้งแรงงานต่างชาติที่เข้าไปทำงานในประเทศอิสราเอล  อาทิ  แรงงานโรมาเนีย  ตรุกี  ไทย  จีน  และฟิลิปปินส์  เป็นต้น

     แรงงานไทยได้เริ่มเข้าไปทำงานในอิสราเอลตั้งแต่ปี  2523   งานที่ทำในระยะแรกได้แก่ พ่อครัว  แม่ครัว  และช่างฝีมือต่างๆ อาทิ ช่างเชื่อม  ช่างแอร์  ช่างซ่อมรถยนต์    ในปี 2527  จำนวนแรงงานไทยได้เพิ่มขึ้นเป็นพันคน   โดยเข้าไปทำงานในรูปอาสาสมัครตามคิบบุตส์  และโมชาฟ   ในปี 2537  หลังจากปิดพรมแดนอิสราเอลกับเขตยึดครองเพื่อป้องกันปัญหาการก่อการร้ายจากกลุ่มปาเลสไตน์หัวรุนแรง 

ทางการอิสราเอลได้อนุญาตให้มีการนำเข้าแรงงานต่างชาติแทนคนงานปาเลสไตน์ในภาคก่อสร้าง และภาคเกษตร คนไทยจึงเริ่มเข้าไปทำงานในอิสราเอลมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงจำนวนเกือบ 26,000 คนในปัจจุบัน โดยทำงานในชุมชนอิสราเอลที่เรียกว่า Kibbutz  จำนวน 267  แห่ง และในชุมชนอิสราเอลที่เรียกว่า Moshav จำนวน 448  แห่งทั่วประเทศ 

     โมชาฟ  คือหมู่บ้านสหกรณ์การเกษตร ปกครองตนเองภายในชุมชนแบบประชาธิปไตยมีสมาชิกแต่ละแห่งประมาณ  60-200  ครอบครัว แต่ละครอบครัวสามารถมีที่ดินเพื่อทำการเกษตรของตนเอง มีบ้านของตนเอง มีเครื่องมือทำการเกษตรของตนเอง โดยโมชาฟรับผิดชอบด้านการตลาด และจัดซื้อเครื่องมือเครื่องใช้ให้สมาชิกในราคาถูก รวมทั้งจัดการให้สมาชิกทุกคนได้ใช้น้ำและที่ดินเท่าเทียมกัน

     คิบบุตส์  คือชุมชนที่มีลักษณะคล้ายคอมมูน ซึ่งสมาชิกเป็นเจ้าของทรัพย์สินร่วมกัน และได้รับการแบ่งปันผลกำไรตามผลงานที่ทำได้ในแต่ละปีแรงงานไทยในอิสราเอลส่วนใหญ่ทำงานในฐานะคนงานภาคเกษตร  โดยสามารถยึดตลาดแรงงานภาคเกษตรได้เกือบทั้งหมด  อัตราการเรียกรับค่าบริการสำหรับแรงงานไทยไปทำงานภาคเกษตรในประเทศอิสราเอลอยู่ระหว่าง   60,350 – 350,000  บาท  (ประมาณ 1,700 – 10,000 เหรียญสหรัฐ) ซึ่งค่าบริการและค่าใช้จ่ายที่เก็บจากคนหางานนี้ บริษัทจัดหางานในประเทศไทยต้องจ่ายให้บริษัทจัดหางานอิสราเอลสำหรับค่าการตลาด ค่าดูแลคนงานตลอดสัญญาจ้าง  ค่าบัตรโดยสารเครื่องบินเที่ยวกลับ  ค่าประกันสุขภาพสำหรับ 2 ปีแรก  และจ่ายให้นายจ้างอีกจำนวนหนึ่งด้วย แต่การจ่ายเงินของคนหางานให้กับบริษัทจัดหางานในประเทศไทยมักไม่มีหลักฐานการรับเงินตามจำนวนที่จ่ายจริง  สำหรับกรณีที่คนหางานจ่าย 60,750 บาท นั้น ไม่มีการจ่ายให้นายจ้างแต่อย่างใด  และไม่รวมค่าบัตรโดยสารเครื่องบินขากลับ  

 

     สัดส่วนของแรงงานต่างชาติในอิสราเอลได้รับอนุญาตให้ทำงาน 4   สาขา   ได้แก่

         –   ภาคเกษตร   แรงงานไทยถือครองตำแหน่งงานในสาขานี้มากที่สุดถึงกว่าร้อยละ 95

         – ภาคบริการและร้านอาหาร  ในอิสราเอล คนไทยครองตำแหน่งเป็น Chef และ Cook มากที่สุดถึงร้อยละ 95   ในร้านอาหารไทย จีน และญี่ปุ่น  

         –  ภาคก่อสร้าง แรงงานชาติโรมาเนีย  จีน และตุรกีถือครองตำแหน่งมากที่สุด                

         –  ภาคดูแลคนชราและผู้พิการ  แรงงานฟิลิปปินส์ถือครองตำแหน่ง  ร้อยละ 95

TOP